วิศวะ ม.มหิดล-เจเคแอล ออโตเมชั่น จับมือกันร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์มาตรฐานเทียบเคียงสากลมุ่งจำหน่ายทั้งไทยและต่างประเทศ

MOU งานบริหารการวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ร่วมกับ บริษัท เจแอลเค ออโตเมชั่น(ประเทศไทย) จำกัด

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 67 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเจแอลเค ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ เพื่อดำเนินงานพัฒนา สนับสนุน ส่งเสริม นวัตกรรมทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์การแพทย์ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ และระบบอัตโนมัติ ให้ได้มาตรฐานเทียบเคียงกับสากล และจัดจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับประเทศไทยทั้งในด้านนวัตกรรม การรักษา การพัฒนาบริการสาธารณสุข การต่อยอดองค์ความรู้เพื่อคิดค้นและวิจัยเทคโนโลยีอุปกรณ์ทางการแพทย์ และความพร้อมของบุคคลากรที่ตรงกับความต้องการของประเทศและภูมิภาค และอีกหลายโครงการที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ นายธีรพงษ์ กงสบุตร ผู้จัดการทั่วไป บริษัทเจแอลเค ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) ณ ห้องประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยมีบุคลากรและองค์กรด้านการแพทย์และสุขภาพของไทยเข้าร่วมงาน

รองศาสตราจารย์ ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ห้องปฏิบัติการวิจัยภาพ ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์” ตั้งอยู่ ณ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์สร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์การแพทย์ โดยการผนึกความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัทเจแอลเค ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) มีขอบข่ายความร่วมมือ ในด้าน R&D Development โดยร่วมกันส่งเสริม วิจัยพัฒนา นําไปสู่การสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ เทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์การแพทย์ ให้ได้มาตรฐานเทียบเคียงกับสากล เพื่อการผลิตและจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรมในประเทศและต่างประเทศต่อไป ทั้งนี้ “ห้องปฏิบัติการวิจัยภาพ ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์” จะนำร่องด้วย ‘หุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงานเภสัชกรปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการสั่งจ่ายยาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย’ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการดูแลและรักษาสุขภาพของผู้ป่วย ในระบบการจัดการด้านยา กระบวนการดำเนินงานบริการจ่ายยาผู้ป่วย เพื่อลดอุบัติการณ์และระดับความรุนแรงที่เกิดจากความคลาดเคลื่อนทางยาลงได้ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลจะเป็นต้นแบบในการนำหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงานเภสัชกรปัญญาประดิษฐ์ให้กับประเทศ โดยเน้นถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย ลดความคลาดเคลื่อนทางยา ลดระยะเวลารอคอยยาของผู้ป่วย ลดการทำงานซํ้าซ้อน อำนวยความสะดวกทั้งแก่บุคลากรผู้ให้บริการและสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ประชาชนที่มารับบริการ

นายธีรพงษ์ กงสบุตร ผู้จัดการทั่วไป บริษัทเจแอลเค ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า “บริษัทเจแอลเค ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) มีความยินดีที่ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ภายใต้โครงการความร่วมมือในการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ และร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ มาตรฐานเทียบเคียงสากล ซึ่งเจแอลเค มีประสบการณ์ ความรู้ และความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการด้านการผลิตเพื่อตอบโจทย์ทางอุตสาหกรรมที่หลากหลาย

เจแอลเค มีเครือข่ายกระจายอยู่ในหลายประเทศ (ไทย สิงคโปร์ จีน อินเดีย และเวียดนาม) ทำให้สามารถรวบรวมและขอข้อมูลความต้องการของแต่ละประเทศได้หลากหลาย อีกทั้งเจแอลเค ได้รับความไว้วางใจถึงศักยภาพของผลิตภัณฑ์ที่มีขายในตลาด ทำให้มีประสบการณ์และความได้เปรียบในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ต่อลูกค้า โดยสามารถแจกแจงจุดเด่น ได้ดังนี้

  1. เจแอลเค ได้รับมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพสำหรับเครื่องมือแพทย์ (ISO13485)
  2. เจแอลเค มีใบรับรองการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ China Food and Drug Administration (CFDA)
  3. เจแอลเค มีประสบการณ์ ความรู้ และความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Rehabilitation, Patient Monitoring, Compound medicine, Robotics และ TeleHealth

ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มแข็ง (Public-Private Partnership) ผ่านสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมหาวิทยาลัยมหิดล จะขับเคลื่อนผู้ให้บริการด้านสุขภาพในทุกภาคส่วนอย่างมีพลัง อาทิเช่น ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์การแพทย์ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ ให้ได้มาตรฐานเทียบเคียงกับสากล ซึ่งล้วนถือเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาของระบบสาธารณสุขของประเทศไทยให้อยู่ในระดับสากล ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมเครื่องตรวจสอบความถูกต้องของยา เครื่องประเมินความเสี่ยงจากโรคลมร้อน และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์อื่นๆ ในอนาคต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *